"ชื่ออ๊อตโต้ครับ ชื่ออ๊อตโต้ ผมอยากเล่าเรื่องเพื่อนเหี้ยของผมให้ฟัง
พนันหมดกระเป๋าเลยว่า Goal Club "เกมล้มโต๊ะ" คือหนังที่เด็กผู้ชายยุค 2000 จะต้องรัก และท่องไดอะล็อกหนังได้แบบซีนต่อซีน คำต่อคำ จากการดูซ้ำไม่รู้กี่รอบ กระทั่งพยายามเดินตามรอยตัวละครในหนังในแง่ของมิตรภาพในกลุ่มเพื่อนด้วยซ้ำ นี่คืองานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ "เรียว กิตติกร" ก็ว่าได้ หนังพูดถึงชีวิตกลุ่มเด็กม.ปลาย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ที่พวกเขาเดินเข้าไปพัวพันกับโลกการพนันฟุตบอล โดยแบ็คกราวน์ของหนังคือภาพสะท้อนสังคม การดิ้นรนของคนกลุ่มล่างที่ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก กลุ่มตัวละครที่ Relate กับชีวิตจริง เหมือนนั่งดูชีวิตตัวเองและเพื่อนๆ ทำให้เราโคตรอิน เอาใจช่วยตัวละคร แม้สิ่งที่ทำจะผิดก็ตาม และตัวละครเหล่านั้น มีการพัฒนาการที่น่าสนใจ ดูหนัง ยอมเปลี่ยนตัวเองเมื่อรู้ว่าถลำลึก เรียนรู้ว่าความโลภและ "เงิน" ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าคำว่า "เพื่อน" เหมือนอย่างที่อ๊อตโต้พูดตอนกลับมาช่วยเพื่อนที่แตกคอกันว่า "กูอยากรู้ ถ้ากูเลิกเดินโพย พวกมึงยังเห็นกูเป็นเพื่อนอยู่หรือเปล่า?" นอกจากความสัมพันธ์ มิตรภาพ หนังยังพาเราไปสำรวจชีวิตคนกลุ่มล่าง การดิ้นรนหาเงินต่อชีวิตแบบวันต่อวัน ระบบทุนนิยมที่บีบให้ทุกคนต้องหาเงินจนไม่มีทางเลือก ต้องหันไปเล่นการพนันจนติดหนี้ ทำสิ่งผิดกฎหมาย ลามมาถึงปัญหาครอบครัว "บอลกับเงินมึงจะเอาอะไร? ... เอาเงิน" หนึ่งในไดอะล็อกที่แสดงถึงการจำยอมทุกอย่างเพื่อเงินของเปเล่ พวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะไล่ล่าความฝันในมหาลัย ถูกจำกัดโอกาส ต่างจากคนที่มีเงินเรียนทางบ้านพร้อมซัพพอร์ต และเมื่ออยากถีบให้ชีวิตดีขึ้น พวกเขาต้องดิ้นรนหาเงิน ซึ่งหนังทำให้เห็นภาพจริงและมายาคติในยุคนั้นว่า หากการศึกษาไม่สูง เส้นสายไม่ใหญ่พอ ก็หาเงินได้น้อยและโดนเอาเปรียบอยู่ร่ำไป จนพวกเขาเจอ "ทางลัด" ที่ได้เงินไวกว่า เยอะกว่า จนเดินสู่ด้านมืดเต็มตัว เริ่มจากเด็กเดินโพย จนรู้เล่ห์เหลี่ยมและหาทางโกงโต๊ะบอล เมื่อชีวิตต้องเลือก พวกเขาเลือกที่จะทำเพื่อเงิน เหมือนที่ยอมเสี่ยงแลกทุกอย่างมาตลอด ยอมเจ็บตัว ยอมทิ้งตำแหน่งนักบอลโรงเรียน ยอมเสี่ยงชีวิต แม้กระทั่งยอมหักเพื่อน อย่างที่เปเล่พูดเอาไว้ต้นเรื่องว่า "พวกรุ่นพี่ผมแต่ละคนอะ โคตรเจ๋งเลย พวกมันรวมหัวกัน ไม่มีใครกลัวเสียฟอร์ม แบบเงินสำคัญกว่า ใครจะว่าไงก็ไม่สน" ซึ่งตอนนี้พวกเขายอมแลกกับอนาคตตัวเอง เพื่อนำเงินมาแก้ไขปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อหรือดูแลคนที่อยู่ข้างหลัง พ่อที่ติดหนี้โต๊ะบอล เลี้ยงน้อง หรืออยากจะทำให้ผู้หญิงที่รักมีความสุข ส่วนนางเอก "เจ" เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิง แม้จะรัก ผูกพัน แต่สายตาที่มองอ๊อตโต้ บ่งบอกทุกครั้งว่า เธอไม่มั่นใจที่จะฝากอนาคตกับคนที่ไม่ยอมเรียนต่อสร้างอนาคต ทำงานได้เงินน้อย ไม่สามารถเลี้ยงดู หรือพาชีวิตเธอไปไกลอย่างที่ต้องการได้ บอลยุโรปที่ฝันไว้ ก็แขวนเอาไว้ด้วยเดิมพันโง่ๆ ที่ฝ่ายชายเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง อีกทั้งหนังยังกล้าตบหน้าใส่ระบบการทำงานของข้าราชการบางกลุ่มแบบเจ็บๆ การใช้เส้นสาย ระบบฝากเข้าเรียน ม้าด่วนขนส่ง และตำรวจ ที่สะท้อนว่า หากมีอำนาจในมือ คุณก็สามารถเอาเปรียบคนอื่นได้ ตัดโอกาสของคนที่ตั้งใจและมีฝีมือจริงๆ อย่างฉากฝากตัวเปเล่เป็นนักฟุตบอลโรงเรียนเพื่ออนาคต ฉากม้าด่วนตัดหน้าอ๊อตโต้ ซึ่งสิ่งน่าเจ็บปวดก็คือ การเอาเปรียบนี้มีอยู่ในทุกที่และทุกชนชั้น นี่คือจดหมายรักของช่วงชีวิตวัยรุ่น เหมือนเราได้อ่านไดอารี่ทบทวนชีวิตช่วงหนึ่ง โปรแกรมหนัง ที่ได้คึกคะนองกับเพื่อนฝูง ทำผิดพลาด และเรียนรู้ ซึ่งบทสรุปของหนังก็ตักเตือนให้เราใช้ชีวิตแบบนอกลู่ในทางอย่างมีสติ และชวนคิดถึงชีวิตมัธยมชิบหาย อีกนัยหนึ่งมันคือการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล ความคลั่งไคล้ที่ผู้กำกับใส่ลงไป ฟุตเทจ เทปฟุตบอลแมตช์ในความทรงจำในรายการใหญ่ๆ อย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, พรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ, ฟุตบอลยูโร แม้กระทั่งฟุตบอลไทย ที่หยิบเอาเกมคลาสสิคตลอดกาล "ไทย-เกาหลี" มาใช้ในหนัง
ซึ่งแต่ละเกมถูกวางอย่างมีความหมายต่อหนัง รวมถึงการปรากฏตัวของสามนักฟุตบอลทีมชาติไทยยุคดรีมทีมที่เป็นการคารวะอย่างทรงพลัง มาแสดงในบททีมฟุตบอลวินมอไซค์ จนเป็นฉากในความทรงจำของหนัง Goal Club ก็คือบันทึกชีวิตของเด็กผู้ชายดีๆ นี่เอง
Comments